ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

ที่ห้องประชุมศูนย์บัญชาการจังหวัดพะเยา ศาลากลางจังหวัดพะเยา นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วย นายภูธนะ ชมภูมิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 34 ผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมร่วมการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2568 ผ่านระบบประชุมทางไกล (VDO Conference) โดยมี คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา นายจรัลธาดา กรรณสูต พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ร่วมสังเกตการณ์การประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พร้อมให้กำลังใจและคำแนะนำในการเตรียมความพร้อมบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2568 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม


โดยนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี กล่าวว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อปี 2559 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้คณะองคมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระราชกระแส อันมีใจความสำคัญว่า 1. ขอให้ทุกฝ่ายได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมรับสถานการณ์อันเกิดจากภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ 2. ขอให้มีการปรับแผนเผชิญเหตุอยู่ตลอดเวลาและสอดรับกับสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศซึ่งเปลี่ยนแปลงไปและไม่เหมือนกันทุกระยะ ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือบำบัดดูแลแก้ไข สถานการณ์จนถึงการช่วยเหลือประชาชนเป็นไปโดยฉับไว ทันท่วงที ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จากทุกภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำท่วม วาตภัย ภัยแล้ง และภัยหนาว ซึ่งคณะองคมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยการสนับสนุนของกองบัญชาการฯ
นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรง และความถี่มากขึ้น โดยเฉพาะในห้วงฤดูร้อน หลายพื้นที่ของประเทศมีพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง
ปี 2568 จึงได้มีการกำหนดแนวทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งเป็นการล่วงหน้า 3 ด้าน ได้แก่ 1. ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานด้านการพยากรณ์ หน่วยงานทางวิชาการ และหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อนมาอย่างต่อเนื่อง
2. ในระดับพื้นที่ กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม จัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และ อปท. และทุกภาคส่วน พร้อมช่วยเหลือประชาชน สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำรวมถึงการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ และ


3. พื้นที่ที่ยังไม่เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง ได้กำชับให้ดำเนินการป้องกันไว้ล่วงหน้า หากเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ บูรณาการทุกหน่วยงานเข้าแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งการแจกจ่ายส่วนกรณีเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายทั้งด้านการเกษตร ประมงและปศุสัตว์และอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว

Related posts