วันที่ 6 ก.พ.2567 พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 ผอ.สนง.เขตสุขภาพที่ 1, นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นพ.สสจ.เชียงราย พร้อมคณะผู้บริหารลงพื้นที่เทศบาลตำบลแม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย หารือเพื่อประสานความร่วมมือกับเทศบาลตำบลแม่ยาว กำนัน สถานีตำรวจ ผอ รพ.สต.แม่ยาว ภาคประชาสังคม และรพ.แม่ลาว ดำเนินงานบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment : CBTx) หลังการประชุมคณะได้ลงพื้นที่ ชุมชนบ้านสันเจริญ พบปะชุมชน ร่วมเสวนากับผู้ใช้ยาเสพติดที่มีอาการดีขึ้น พร้อมลงพื้นเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์บำบัดฟื้นฟูยาเสพติด “ศูนย์ธัญญารักษ์แม่ลาว” รพ.แม่ลาว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
ทั้งนี้ ตำบลแม่ยาว เป็นพื้นที่เส้นทางผ่านของกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด ที่เข้ามาฝังตัวสร้างอิทธิพลในหมู่บ้านทำให้เกิดการแพร่ระบาดของยาเสพติดในวงกว้าง และมีจำนวนผู้ใช้สารเสพติดมากขึ้น การดำเนินงานบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐานจึงมีความสำคัญ ตั้งแต่การค้นหา คัดกรอง บำบัด ฟื้นฟู ลดอันตรายจากยาเสพติดและติดตามดูแลช่วยเหลือทางสังคม และด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนใน ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ประกอบด้วย 20 หมู่บ้าน และกลุ่มบ้านบริวาร อีก 40 กลุ่มบ้าน
การดำเนินงานกลุ่มบ้านสันเจริญ จึงเริ่มจากการทำเวทีประชาคมในชุมชน ผู้นำชุมชน และคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อสำรวจความต้องการเข้ารับการบำบัดและมีมติให้ไม่มีการขายยาเสพติดในหมู่บ้าน เพื่อลดจำนวนผู้เสพ รวมถึงมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันเป็นกฎชุมชนที่ทุกคนถือปฏิบัติ ผู้ใช้สารเสพติดได้เข้ารับการบำบัดรักษา ให้โอกาสกลับตัวเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ได้รับการบำบัดรักษาโดย รพ.สต.แม่ยาว มินิธัญญรักษ์แม่ลาว สสจ.แม่ลาว และผู้นำชุมชน ร่วมประสานงาน ผู้นำทางศาสนาญาติไปเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ต้อนรับกลับบ้านให้กำลังใจผู้บำบัดและครอบครัว
ทั้งนี้ การลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน กำนันตำบลแม่ยาว นายกเทศมนตรีตำบลแม่ยาว ผอ.รพสต.แม่ยาว ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ยาว ภาคประชาสังคม กลุ่ม ฅ ฅนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ร่วมดูแลและจัดทำทะเบียนข้อมูลแผนที่ชุมชนช่วยเหลือฟื้นฟู ติดตาม แยกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด เพื่อเพิ่มโอกาสในการช่วยเหลือ สร้างสภาวะแวดล้อมเชิงบวก ปปส. ภาค 5 ส่งเสริมการเล่นกีฬา มีการอบรมความรู้ สร้างแกนนำพัฒนาศักยภาพเรื่องพิษภัยยาเสพติด ในเครือญาติ ครอบครัว และเยาวชนเพื่อสร้างเกราะป้องกัน เพื่อให้มีความเข้าใจสภาพร่างกายและจิตใจของผู้บำบัด ยอมรับไม่รังเกียจหรือตีตรา ให้กำลังใจแก่ผู้บำบัดอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม