เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District) จังหวัดเชียงใหม่ และส่วน 5G Smart Health ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้งบประมาณสนับสนุน โดยมีคณบดี คณะแพทยศาสตร์ พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District) ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วน 5G Smart Health งบประมาณสนับสนุน จำนวน 49,306,000 บาท จากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบนโนบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย ในส่วนของการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G เพื่อให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลของประเทศที่ครอบคลุมในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดการผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และลดช่องว่างทางสังคม ช่วยให้เกิดความรู้และทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับบุคลากรทุกกลุ่ม และพัฒนากระบวนการทำงาน และการให้บริการของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อไป
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในวงการแพทย์มากขึ้น และกลยุทธ์ในการเป็น Digital Organization ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ เพื่อตอบยุทธศาสตร์ของชาติในการใช้เทคโนโลยี 5G มาพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และ เป็นตัวอย่างในการสร้างระบบสาธารณสุข ด้านเทเลเม็ดดิซีนแพลตฟอร์ต (telemedicine platform) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 2 องค์กรที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยของโลก มาประยุกต์และสร้างระบบสาธารณสุขแบบใหม่ จึงทำโครงการขนาดใหญ่ร่วมกัน 2 โครงการ กล่าวคือ
(1) โครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน(5G District) จังหวัดเชียงใหม่ (โครงการ 5G smart health)
(2) โครงการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์ทางไกลเพื่อขยายการเข้าถึงการให้บริการประชาชน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพระบบบริการสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมีการพัฒนาอย่างมาก สามารถนำมาเพิ่มประสิทธิภาพระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยระดับตติยภูมิขั้นสูง ที่มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลอาศัยในเขตจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลอำเภอเมือง ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง ทำให้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ดังนั้น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จึงนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยเทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงสามมิติด้วยรถพยาบาลอัจริยะ (AR technology with Smart ambulance) พร้อมบูรณาการแว่นตาอัจฉริยะ (AR consulting glasses) ผ่านเครือข่าย 5G ในการปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถ Smart ambulance แบบ real time ระหว่างโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลประจำอำเภอ ในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ร่วมโครงการ จำนวน 20 แห่ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่าน Web Application ได้อย่างครบวงจรโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพียงเดินทางไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอที่ใกล้เคียงที่พัก หรือที่สะดวกในการเข้ารับบริการ อีกทั้งยังทำให้สามารถลดต้นทุนด้านการเดินทาง และลดเวลาแก่ผู้ป่วยได้ ที่สำคัญผู้ป่วยยังสามารถได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยผลลัพธ์ของทั้ง 2 โครงการจะเป็นการสร้าง telemedicine platform ที่บูรณาการระหว่าง ระบบการแพทย์ทางไกลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลประจำอำเภอในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน และมีการนำ AR technology และ 5G เทคโนโลยี มาเพิ่มประสิทธิภาพรถพยาบาลฉุกเฉิน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์บนรถพยาบาลฉุกเฉินสามารถปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถพยาบาลฉุกเฉินขณะส่งตัวผู้ป่วย ร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง ที่ประจำอยู่ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ส่งผลให้โรคฉุกเฉินและโรควิกฤติ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดสมองตีบ เป็นต้น สามารถได้รับการรักษาได้ทันที โดยแพทย์เฉพาะทางในแต่ละโรค ระหว่างส่งตัวผู้ป่วยทำให้ลดอัตราการตาย และภาวะแทรกซ้อน การเชื่อม telemedicine platform ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับโรงพยาบาลสำคัญจากกระทรวงสาธารณสุข ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะส่งผลการใช้ระบบเทคโนโลยี 5G กับระบบสาธารณสุขระดับประเทศ เนื่องจากเป็นการเชื่อมระบบการรักษาแบบไร้รอยต่อ ระหว่างโรงพยาบาลข้ามสังกัดกระทรวง โดยในที่สุดเมื่อโครงการนี้สำเร็จจะเป็นระบบต้นแบบที่ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด กล่าวคือการเข้ารับการรักษาภาวะฉุกเฉินใน โรงพยาบาลใดในจังหวัดเชียงใหม่ และหรือโรงพยาบาลในภาคเหนือตอนบน (ที่ร่วมโครงการ) ผู้ป่วยทุกท่านจะได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรค ผ่านระบบที่เชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อ ซึ่งทำให้ผลการรักษาพยาบาลมีความปลอดภัยมากขึ้น
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่