กรมชลประทาน จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ใจ (ห้วยหก) จังหวัดพะเยา

วันที่ 18 มีนาคม 2568 จังหวัดพะเยา นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานการประชุมปฐมนิเทศโครงการ โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ใจ (ห้วยแม่หก) จังหวัดพะเยา ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอแม่ใจ อำเภอแม่ใจ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร วัตถุประสงค์การดำเนินงานโครงการและรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาโครงการ สภาพปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จากประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยมีนายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย จำนวน 100 คน เข้าร่วมประชุมฯ

นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ราษฎรตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร แต่พื้นที่การเกษตรส่วนมากอยู่นอกเขตชลประทาน จึงอาศัยน้ำฝนและลำน้ำห้วยแม่ใจ แต่สภาพปัญหาไม่มีที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร ฝนไม่ตกตามฤดูกาล บางปีฝนตกซุก ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ทำให้ราษฎรมีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโกคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง กรมชลประทาน จึงได้ทำการตรวจสอบสภาพพื้นที่ร่วมกับผู้นำและราษฎรในพื้นที่ เห็นว่า มีแนวทางช่วยเหลือได้ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลำห้วยแม่ใจ (ห้วยหก) ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำได้ในช่วงฤดูน้ำหลาก และส่งน้ำให้กับระบบเหมืองฝายต่างๆในช่วงหน้าแล้งได้ โดยกำหนดลักษณะเป็นโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 2.80 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์โครงการฤดูฝน 2,200 ไร่ และช่วงหน้าแล้ง 1,100 ไร่ ต่อมากรมชลประทาน ได้ศึกษาและจัดทำรายงานวางโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ใจ (ห้วยหก) พบว่า มีพื้นที่องค์ประกอบโครงการซ้อนทับพื้นที่ลุ่มน้ำคุณภาพชั้นที่ 1 ประมาณ 76 ไร่ จึงเป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงาน EIA และต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอผ่อนผันใช้พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บางส่วน ประมาณ 192 ไร่ อยู่ในพื้นที่อุพยานแห่งชาติดอยหลวง ซ้อนทับป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ลาวฝั่งขวา ป่าแม่ส้าน และป่าแม่ใจด้วย กรมชลประทาน จึงจำเป็นต้องจัดทำโครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ใจ (ห้วยหก) จังหวัดพะเยา เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสนอต่อหน่วยงานอนุญาต และเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างตามขั้นตอนต่อไป

Related posts