###นายก อบจ.ประชุมร่วมกับ สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) “การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอาหาร จังหวัดนครสวรรค์”###

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมศูนย์สั่งการและควบคุมการปฏิบัติ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ พร้อมด้วย นางสุดฤทัย เศรษฐนันท์ รองนายกอบจ. สิบเอกพิทยา นาคกุญชร รองปลัด อบจ. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมกับคณะทำงานจากสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ในหัวข้อ “การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน​ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอาหาร​ จังหวัดนครสวรรค์” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร ไทยจงรักษ์ หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัลยา สว่างคง อาจารย์ชิติพัทธ์ สุนทรสารทูล และคณะเข้าให้แนวความคิด การศึกษาหาเก็บข้อมูล

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร กล่าวว่า” โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อ เป็นการศึกษาระดับศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงอาหารของชุมชนในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ให้มีความยั่งยืน ซึ่งไม่อยากให้มองว่าจังหวัดนครสวรรค์นั้นเป็นเพียงจังหวัดผ่าน แต่เป็นจังหวัดที่น่าแวะเยี่ยมชม จึงได้นำการท่องเที่ยว ทั้งกระแสท่องเที่ยวสายศรัทธา(ที่เที่ยวสายมูเตลู) และสายนักชิมทั้งหลาย ไม่ควรพลาด พร้อมทั้งจะมีการนำวิสาหกิจชุมชนร่วมเข้ามามีส่วนร่วมกับเทคโนโลยี เพื่อให้เข้านักท่องเที่ยวมากขึ้น และจะมีการนำการท่องเที่ยวแบบเชิงสร้างสรรค์เข้ามามีบทบาท โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์และนำวิถีชีวิตของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินกิจกรรมครั้งนี้ด้วย”

นายก อบจ.นครสวรรค์ กล่าวว่า “รู้สึกยินดีที่มีการนำการท่องเที่ยวมาบูรณาการร่วมกัน ระหว่างการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่มีอยู่ และอาหารท้องถิ่นในพื้นที่ให้มีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น โดยอบจ.นครสวรรค์ พร้อมที่จะผลักดันให้อาหารท้องถิ่นในพื้นที่นั้น เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่ เพราะเนื่องจากในแต่ละพื้นที่นั้นจะมีเอกลักษณ์ในเรื่องของอาหารที่แตกต่างกันแล้ว แต่ยังมีอาหารบางชนิดที่ยังต้องเฝ้ารอให้ถึงวาระก่อนเพื่อที่จะได้ลิ้มรส หรือหากจะกินให้อร่อยสุดก็ต้องกินให้ถูกฤดูกาลเท่านั้น”

พร้อมกันนี้ในที่ประชุมยังได้หารือและวางแนวทางในการจัดเทศกาลอาหารอร่อยในจังหวัดนครสวรรค์ โดยกิจกรรมภายในงานนั้นจะเป็นการนำทั้งอาหารคาวและอาหารหวานจำนวน 15 อำเภอในเขตจังหวัดนครสวรรค์เข้ามาส่วนร่วมด้วย อีกทั้งยังมีการวางแผนจัดเตรียมการประกวดแข่งขันทำอาหารท้องถิ่นในพื้นที่ด้วย เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจได้นำเสนอเมนูอาหารในพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและอนุรักษ์อาหารท้องถิ่นให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป

Related posts