แม่ทัพภาค 3 ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ “ศอ.ปส.ชน.” ประจำปี 66 สรุปผลงาน มอบโล่ประกาศเกียรติคุณฯ

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 66 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม​โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร เดินทางมาเป็นประธานการประชุมพร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลที่มีผลงานดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศอ.ปส.ชน. ประจำปี 66 โดยมี พลตำรวจโท​ปิยะ​ ต๊ะวิชัย ​ผู้บัญชาการ ตำรวจภูธรภาค 5, ปปส.ภาค 5 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมสรุปผลงานของศอ.ปส.ชน. ในครั้งนี้


ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ สรุปผลงานในปีงบประมาณ 2566 ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศอ.ปส.ชน.) ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา โดยมีผลการตรวจยึด/จับกุม จำนวน 451 ครั้ง ผู้ต้องหา 496 ราย ตรวจยึด ยาบ้า 91,263,986 เม็ด, ไอซ์ 3,582.98 กก., เฮโรอีน 28.77 กก., ฝิ่นดิบ 270.87 กก., เคตามีน 363.25 กก. อีกทั้ง หน่วยยังได้ให้ความสำคัญในการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าสู่แหล่งผลิต และการลักลอบขนส่งยาเสพติดผ่านระบบ โลจิสติกส์ ด้วย โดยได้ดำเนินการตรวจการนำเข้า และการใช้สารเคมีควบคุม ในโรงงานอุตสาหกรรม, การกวดขันการส่งออกสารเคมีผ่านด่านพรมแดน, ตรวจการขนส่งทางบกในห้วงเทศกาลสำคัญ, ตรวจสถานประกอบการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ตลอดจนเชิญผู้ประกอบธุรกิจสถานประกอบการ ขนส่งสินค้า ร่วมประชุม หารือ ขอความร่วมมือ และกำหนดแนวทางในการ แก้ไขปัญหาร่วมกัน

นอกจากงานด้านการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดแล้ว หน่วยได้ มีการปฏิบัติอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น จัดทำ “โครงการชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ” ในพื้นที่หมู่บ้านชุมชนเป้าหมาย เพื่อสร้างแนวร่วมในการสกัดกั้นไม่ให้หมู่บ้านถูกนำไปใช้เป็นเส้นทางผ่าน หรือพักยาเสพติด โดยดำเนินการ ปลูกฝัง สร้าง การรับรู้พิษภัยของยาเสพติดให้กับเยาวชน, การฝึกอบรมราษฎรอาสาป้องกัน ภัยยาเสพติด, การค้นหา คัดกรองผู้เสพผู้ติดยาเสพติดให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เป็นต้น จัดทำ ระบบฐานข้อมูลกลางยาเสพติด (Drugs Data Center) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น ข้อมูลยาเสพติด, สารเคมี, กระบวนการผลิต, พื้นที่แหล่งผลิต, แหล่งพัก, เส้นทาง และรูปแบบการลำเลียง ข้อมูลบุคคล และเครือข่าย เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ หน่วยงานด้านยาเสพติดสามารถเข้าไปเรียนรู้ สืบค้นข้อมูล และนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ วางแผนการปฏิบัติงาน รวมทั้งสามารถใช้ตรวจสอบ และติดตามบุคคลผ่านระบบโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย

ทางด้านแนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติด ในปัจจุบันยังคงมีความรุนแรง เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดหลักในประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีเสรีในการผลิต ประกอบกับมีการลักลอบนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์จากประเทศจีนและอินเดียเข้าสู่แหล่งผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงพื้นที่ปลูกฝิ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้แนวโน้มการผลิตฝิ่นและเฮโรอีนเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ การลักลอบขนส่ง ยาเสพติดผ่านทางระบบโลจิสติกส์ในประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะ ในรูปแบบพัสดุภัณฑ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อย ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว และสามารถส่งถึงผู้รับได้โดยตรง ยาบ้ายังเป็นยาเสพติดหลักที่มีการใช้และแพร่ระบาด มากที่สุด และควรเฝ้าระวังสารเสพติดรูปแบบใหม่ในกลุ่มนักเที่ยวสถานบันเทิง (กลุ่ม Club Drugs) ด้วย

 

และในที่ประชุมในครั้งนี้ ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ สรุปสถานการณ์และผลการปฏิบัติงานที่สำคัญประจำปีงบประมาณ 2566 เกี่ยวกับ​สถานการณ์ยาเสพติดและสถานการณ์นอกประเทศ

แหล่งผลิตยาเสพติดหลัก ยังคงอยู่ในพื้นที่รัฐฉานเหนือ จำนวน 6 แห่ง โดยตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษของ กลุ่มว้า โกกั้ง และกลุ่มพันธมิตรเมืองลาสามารถผลิตยาเสพติดได้ทั้ง ไอซ์ เฮโรอีน ยาบ้า และ เคตามีน ส่วนในพื้นที่รัฐฉานใต้ มีแหล่งผลิต ยาเสพติด จำนวน 4 แห่ง ดำเนินการโดยกลุ่มว้า จีนฮ่อ มูเซอ และกลุ่มไทใหญ่

การจับกุมนอกประเทศ ด้านเมียนมา ทางการเมียนมา ได้เพิ่มมาตรการในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา มีการตรวจยึดจับกุม ที่สำคัญ จำนวน 28 ครั้ง ของกลาง ยาบ้า ห้าสิบสองล้านสามแสนเม็ดเศษ (52,363,000 เม็ด) ไอซ์ 5,408 กก. เฮโรอีน 475 กก. มีการตรวจยึดเคมีภัณฑ์ 33 ครั้ง ในพื้นที่รอยต่อรัฐฉานเหนือ กับ เขตมัณฑะเลย์ และในพื้นที่เขตย่างกุ้ง นอกจากนี้ยังมีการ เข้ากวาดล้างแหล่งผลิตในพื้นที่รัฐฉานใต้ จำนวน 7 ครั้ง ตรวจยึด ยาเสพติดและอุปกรณ์การผลิต ได้เป็นจำนวนมาก
ด้าน สปป.ลาว มีการจับกุมยาเสพติดรายสำคัญ 16 ครั้ง ในพื้นที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ด้านตรงข้าม อ.เชียงแสน, อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ของกลาง ยาบ้า สี่สิบเก้าล้านแปดแสนเม็ดเศษ (49,845,000 เม็ด), ไอซ์ 3,125 กก., เฮโรอีน 400 กก. และ เคตามีน 584 กก.

เกี่ยวกับ​สถานการณ์ในประเทศ มีการจับกุมในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ จำนวน 73 ครั้ง ของกลาง ยาบ้า แปดสิบเจ็ดล้านแปดแสนเม็ดเศษ (87,898,600 เม็ด), ไอซ์ 3,539 กก. และ เคตามีน 360 กก. เปรียบเทียบสถิติในห้วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา มีการจับกุม ยาบ้า ลดลง ร้อยละ 31 และ ไอซ์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 80 การจับกุมนอกพื้นที่ มีการจับกุมรายสำคัญ 61 ครั้ง ของกลางยาบ้า หนึ่งร้อยห้าสิบล้านเม็ดเศษ (150,055,885 เม็ด), ไอซ์ 10,738 กก., เฮโรอีน 120 กก., และ เคตามีน 2,885 กก.โดยมีสถิติการจับกุม ยาบ้าลดลง ร้อยละ 23 และ ไอซ์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 61

ข้อพิจารณาและแนวโน้มสถานการณ์
ถึงแม้ว่ารัฐบาลเมียนมา จะมีความพยายามในการสกัดกั้น และปราบปราม แต่ก็เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ ส่วนในพื้นที่อิทธิพลของเขตปกครองตนเองในรัฐฉานเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตหลัก ยังคงมีเสรีในการผลิต ประกอบกับ ยังมีการลักลอบนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ จากประเทศจีนและอินเดียเข้าสู่แหล่งผลิต พื้นที่ปลูกฝิ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่อิทธิพล ในรัฐฉานใต้ มีการสนับสนุนให้ประชาชนปลูกฝิ่นได้ตลอดทั้งฤดูกาล จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวโน้มการผลิตฝิ่น และเฮโรอีนเพิ่มขึ้น

การลักลอบลำเลียงผ่านแนวชายแดนเข้าสู่เขตไทย นอกจากทางด้านชายแดนภาคเหนือแล้ว ในห้วงที่ผ่านมา มีการใช้พื้นที่ทางด้าน สปป.ลาว เป็นเส้นทางลำเลียงผ่านยาเสพติด เพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มขบวนการ สร้างอิทธิพลในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ประสาน แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ในการลักลอบเข้าสู่ชายแดนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย การลักลอบลำเลียงเข้าสู่พื้นที่ตอนใน ปัจจุบัน พบการลักลอบขนส่งยาเสพติด ผ่านทางระบบโลจิสติกส์ มากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบพัสดุภัณฑ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อย ใช้ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว และสามารถส่งถึงผู้รับได้โดยตรง

ซึ่งในปี 2566 นี้ พบการจับกุมในระบบโลจิสติกส์ ที่มีการส่งจากต้นทางในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ จำนวน 18 ครั้ง ของกลาง ยาบ้า เจ็ดล้านห้าแสนเม็ดเศษ (7,515,098 เม็ด), ไอซ์ 350 กก., เฮโรอีน 20 กก. และเคตามีน 104 กก. ส่งไปยังปลายทางในพื้นที่ ภาคกลาง ภาคใต้ และต่างประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ไต้หวัน อเมริกา และอิสราเอล

“ยาบ้า” ยังคงเป็นตัวยาเสพติดหลักที่มีการใช้ และแพร่ระบาดมากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ หาซื้อง่ายราคาถูก อีกทั้ง ยังควรเฝ้าระวังสารเสพติดรูปแบบใหม่ ในกลุ่มนักเที่ยวสถานบันเทิง (กลุ่ม Club Drug) ดังนั้น แนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติดในห้วงต่อไป ทั้งการผลิต การค้า การนำเข้า รวมถึงการใช้ จึงยังคงมีความต่อเนื่อง/

สรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ ของหน่วยในปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 65 -​ 20 ส.ค. 66) เกี่ยวกับ​การสกัดกั้นปราบปรามยาเสพติด จัดกำลังลาดตระเวน ตั้งจุดตรวจจุดสกัด ซุ่มเฝ้าตรวจ และ ปิดล้อมตรวจค้น ขยายผลยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด ผลการบูรณาการร่วมสามารถสกัดกั้น จับกุมผู้ต้องหา 496 ราย ตรวจยึด ยาบ้า 87,898,600 เม็ด, ไอซ์ 3,539 กิโลกรัม, ฝิ่นดิบ 270 กิโลกรัม เฮโรอีน 28 กิโลกรัม และ เคตามีน 363 กิโลกรัม

โดยมีผลการบูรณาการร่วมสกัดกั้นที่สำคัญ จำนวน 7 เหตุการณ์ ได้แก่
1. ตรวจยึด ยาบ้า 350,000 เม็ด ในพื้นที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
2. จับกุมผู้ต้องหา 1 ราย พร้อมของกลาง ยาบ้า 50,000 เม็ด ในพื้นที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
3. จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย พร้อมของกลาง ฝิ่นดิบ 4.9 กิโลกรัม ในพื้นที่ อำเภอแม่อาย และขยายผล ตรวจยึด ยาบ้า 24,000 เม็ด ในพื้นที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
4. จับกุมผู้ต้องหา 5 ราย พร้อมของกลาง ยาบ้า 5,950,000 เม็ด ในพื้นที่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
5. จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย พร้อมของกลาง ไอซ์ 281 กิโลกรัม ในพื้นที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
6. จับกุมผู้ต้องหา 4 ราย พร้อมของกลาง ยาบ้า 4,000,000 เม็ด ในพื้นที่ อำเภองาว จังหวัดลำปาง
7. ตรวจยึด ยาบ้า 800,000 เม็ด ในพื้นที่ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่

เกี่ยวกับ​การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยหน่วยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ การสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าสู่แหล่งผลิต โดยดำเนินการ ตรวจการนำเข้า ส่งออก และการใช้สารเคมีควบคุม ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้ง กวดขันการส่งออกสารเคมี ผ่านด่านพรมแดน ร่วมกับด่านศุลกากรเพื่อป้องกันการลักลอบ นำสารเคมีไปใช้ในกระบวนการผลิต ทั้งในและนอกราชอาณาจักร

การสกัดกั้นยาเสพติดผ่านระบบขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (Logistics) โดยดำเนินการตรวจการขนส่งทางบกในห้วงเทศกาลสำคัญ เพื่อป้องกันการลักลอบขนส่งยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย ไปกับสัมภาระผู้โดยสาร การตรวจสถานประกอบการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามมาตรการ การเชิญผู้ประกอบธุรกิจ สถานประกอบการขนส่งสินค้า ร่วมประชุม หารือ ขอความร่วมมือ และกำหนดแนวทางในการ แก้ไขปัญหาร่วมกัน

จัดทำ “โครงการชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนแก้ไขปัญหา ยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ” โดยดำเนินการ ปลูกฝัง สร้างการรับรู้พิษภัยของยาเสพติดให้กับเยาวชน, การฝึกอบรมราษฎรอาสาป้องกันภัยยาเสพติด, การค้นหา คัดกรอง ผู้เสพผู้ติดยาเสพติด ในพื้นที่หมู่บ้านชุมชนเป้าหมาย ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา รวมทั้ง สนับสนุนหน่วยงานร่วม ให้เข้าถึงเป้าหมาย ได้อย่างปลอดภัย เพื่อสร้างแนวร่วมในหมู่บ้านเป้าหมายในการ สกัดกั้นไม่ให้หมู่บ้านถูกนำไปใช้เป็นเส้นทางผ่าน หรือพักยาเสพติด

นอกจากงานด้านการสกัดกั้นและการแก้ไขปัญหายาเสพติดแล้ว หน่วยยังได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยได้ จัดทำ ระบบฐานข้อมูลกลางยาเสพติด หรือ (Drugs Data Center) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น ข้อมูลยาเสพติด สารเคมี กระบวนการผลิต พื้นที่แหล่งผลิต แหล่งพัก เส้นทางและรูปแบบการลำเลียง สถานการณ์ สถิติการจับกุม ข้อมูลกลุ่มบุคคล และเครือข่าย รวมทั้ง ความรู้ด้านกฎหมาย นโยบาย แผนและคำสั่งต่างๆ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการใช้วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และวางแผนในการปฏิบัติงาน อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ ในการใช้ตรวจสอบ และติดตามบุคคลต้องสงสัย ด้วยระบบโปรแกรมเครือข่าย ซึ่งสามารถค้นหาและตรวจสอบ รายชื่อ ทะเบียนรถ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ นอกจากนั้น ระบบ ยังเป็นแหล่งข้อมูลให้กับหน่วยงานด้าน ยาเสพติด สามารถเข้าไปเรียนรู้ และสืบค้นข้อมูล เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วย อีกด้วย.

Related posts