ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาเน้นย้ำ Hotspot จะต้องลดลงอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบย้อนถึงแหล่งที่มาของผักหวาน ไข่มดแดงและเห็ดถอบ ระยะหลังพบมีคนจากจังหวัดใกล้เคียงมาจุดไฟเผาป่า

นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาด เล็ก PM 2.5 จังหวัดพะเยา ครั้งที่ 2/2568 ผ่านระบบ ณ ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยา ศาลากลางจังหวัดพะเยา โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมและ อีกส่วนหนึ่ง จาก 9 อำเภอ ประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting ล่าสุดสถานการณ์ณวันที่ 10 มีนาคม 2568 จังหวัดพะเยาเกิดจุด Hotspot ขึ้นทั้งหมด 20 จุดมากที่สุดที่อำเภอปง รองลงมาคืออำเภอจุน และอำเภอดอกคำใต้ ตามลำดับ Hotspot สะสมของจังหวัดพะเยาตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 10 มีนาคม 2568 จำนวน 1,316 จุด โดยเกิดมากที่สุดที่อำเภอเชียงม่วน 436 จุดอำเภอปง 258 จุดและอำเภอดอกคำใต้ 205 จุดตามลำดับ โดยจังหวัดพะเยามีเป้าหมายลดจำนวน Hot Spot ลงจากปี 2567 ร้อยละ 30 หรือไม่เกิน 1,917 จุด ข้อมูลและวันที่ 10 มีนาคม 2568 ได้มีการตรวจจับปรับไปแล้ว 17 ราย โดยในจำนวนนี้ได้จับปรับ 4 รายเป็นชาวบ้าน ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเข้ามาหาของป่าที่เขตอุทยานแห่งชาติภูซาง

นายฉกาจ เทพทองปัน หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา กล่าวว่าพื้นที่เปราะบางวัดอนาลโยทิพยาราม ขณะนี้มีการสะสมเชื้อเพลิงจำนวนมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่วัดจะเก็บ ใบไม้ทั้งหมดไปยังสถานที่ก่อสร้างและสะสมทั้งปี หากเกิดไฟจะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ทัน จึงเสนอให้มีการจัดทำแนวกันไฟ และนำเชื้อเพลิงออกมาให้หมด และขอถังน้ำสำรอง ขนาด 2,000 ลิตรจำนวน 30 ถัง ซึ่งหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยาได้ขอให้อำเภอเมืองช่วยเข้าไปดูแล
ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาสั่งการให้ทุกหน่วยงานเพิ่มความเข้มข้นในการทำงานอย่างต่อเนื่อง จุด Hotspot จะต้องลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อีกทั้งสามารถขอกำลังเสริมสนับสนุนจากทหารจากมณฑลทหารบกที่ 34 ซึ่งได้จัดเตรียมกำลังพลพร้อมสนับสนุนเมื่อจังหวัด และอำเภอร้องขอ ให้บูรณาการทุกอำเภอลาดตระเวนดับไฟ ปรับแผนเวลาการลาดตระเวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ในส่วนของการรายงานการจับกุม พบว่าคนต่างพื้นที่เข้ามากระทำผิด ให้ตรวจสอบคนลงทะเบียน รวมทั้งคนต่างพื้นที่ ที่เข้าไปหาผลประโยชน์จากป่า ประสานส่งข้อมูลไปยังพื้นที่ปลายทาง ให้ควบคุมคนของตน ให้ติดตามสอดส่องในพื้นที่จำหน่ายผักหวานในตลาด สอบสวนพ่อค้า แม่ค้า ว่ารับมาจากที่ใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลในปีถัดไปด้วย ทั้งผักหวาน ไข่มดแดง และเห็ดถอบ ผู้ขายจะต้องชี้แจงให้ทราบถึงแหล่งที่มา ได้อย่างโปร่งใส

Related posts