โรงพยาบาลสวนปรุง จัดโครงการซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและสาธารณภัยด้านวิกฤตสุขภาพจิต ร่วมกับเครือข่ายด้านสาธารณภัยและจิตเวชฉุกเฉิน เขตสุขภาพที่ 1 และ 2

วันนี้ (12 กันยายน 2566) นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง เป็นประธานในพิธีปิดและมอบเกียรติบัตรโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและสาธารณภัยด้านวิกฤตสุขภาพจิตแบบบูรณาการ ร่วมกับเครือข่ายด้านสาธารณภัยและจิตเวชฉุกเฉิน เขตสุขภาพที่ 1 และเขตสุขภาพที่ 2 ประจำปี 2566 ณ ร้านอาหาร Much Room อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า สถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งจากภัยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพจิตของประชาชนทุกกลุ่มวัยทำให้เกิดความหวาดกลัว วิตกกังวล โศกเศร้า เครียด ตื่นตระหนกตกใจง่าย ขาดสมาธิในการเรียน นอนไม่หลับ ฝันร้ายและเกิดปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ

บุคลากรทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิตที่ปฏิบัติงานในฐานะทีมเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยพิบัติ (MCATT) และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องบริหารจัดการและให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน ถูกต้องและเหมาะสม โดยก่อนที่บุคลากรดังกล่าวจะให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องได้รับความรู้ ทักษะ และการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ เข้าใจระบบการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการในทุกภาคส่วน เพื่อประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลสวนปรุง จึงได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและสาธารณภัย ด้านวิกฤตสุขภาพจิตแบบบูรณาการ ร่วมกับเครือข่ายด้านสาธารณภัยและจิตเวชฉุกเฉิน เขตสุขภาพที่ 1 และเขตสุขภาพที่ 2 ประจำปี 2566 ขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะด้านการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตแก่บุคลากรทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 1 และเขตสุขภาพที่ 2 ทีม MERT ทีม Mini MERT ทีม PERT ทีมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทีมตำรวจ ทีม กู้ชีพ ฝ่ายปกครอง และทีมที่เกี่ยวข้องในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 80 คน ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2566 โดยมีการจัดซ้อมแผนบนโต๊ะ (Tabletop Exercise) และซ้อมแผนภาคสนามจำลองสถานการณ์การจับตัวประกัน (เสมือนจริง) บูรณาการการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องเหมาะสมคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ประสบภัยพิบัติที่จะได้รับการช่วยเหลือจากทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจที่ผ่านการฝึกซ้อมอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน


………………………………………………..
ข้อมูลโดย กลุ่มงานวิกฤตสุขภาพจิต โรงพยาบาลสวนปรุง

Related posts