#โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนวัตกรรมสร้างสรรค์ “ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” .

ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนวัตกรรมสร้างสรรค์ “ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดฯ อาจารย์ ดร. มาโนช นาคสาทา ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงาน คุณอาคม ศุภางค์เผ่า ประธานสมาพันธ์ SMEs ส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ กลุ่มนักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ผู้ประกอบการ SMEs – Start Up ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ Young SMEs + Farmer กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตร กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงิน ร่วมงานฯ ณ บริเวณลานอะตอม อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม 2565

 

การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนงานบริการทางวิทยาศาสตร์สู่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีไปพัฒนาระบบคุณภาพกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และต่อยอดสู่การขับเคลื่อน SMEs ที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การลงนามความร่วมมือระหว่าง ศวท-มช. และสมาพันธ์ SME ไทย จ.เชียงใหม่ การลงนามจับคู่ธุรกิจ ระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การเสวนาวิสัยทัศน์ของคณะวิทยาศาสตร์ในการนำผลงานวิจัยออกสู่ภาคอุตสาหกรรม โดย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนวัตกรรมสร้างสรรค์ โดย ประธานสมาพันธ์ SME ไทย จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการออกบูธแสดงสินค้าและนิทรรศการ กลุ่มด้านนวัตกรรมสุขภาพ Health Products, กลุ่มสมุนไพรและเครื่องสำอาง Herbs and Cosmetic, กลุ่ม Garment-Fashion,
กลุ่ม Software – Innovation and Green Energy บูธผลงานวิจัยของนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ บูธผลิตภัณฑ์และสินค้าที่มีนวัตกรรม บูธของกลุ่ม SMEs และ Start Up รวมทั้งบูธสถาบันการเงินและผู้สนับสนุน ตลอดจนการนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิจัย และการนำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)

การจัดงานในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในพื้นที่ ให้สามารถเชื่อมโยงผลงานวิจัยที่มีศักยภาพออกสู่ตลาด เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนในอนาคต ตลอดจนสามารถสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อส่งเสริม SMEs อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนา SMEs ให้เข้าถึงนวัตกรรมและดิจิทัล อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้สูงขึ้น

Related posts